วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จพระเทพ ทรงเยี่ยม ณ โรงเรียนบ้านสังแก อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์





โรงเรียนดี โรงรียนดัง

ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบการวางแผนการรับนักเรียนเข้าเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษา ได้พบว่าสิ่งที่คิดว่าง่ายหลายอย่างนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องด้วย
คนยังติดยึดที่ชื่อโรงเรียนมากกว่าสิ่งอื่นใด การกำหนดให้เรียนในพื้นที่บริการให้เรียนใกล้บ้าน
นั้น   ถ้าโรงเรียนใกล้บ้านเป็นโรงเรียนมีชื่อเสียงรู้จักกันดี จะไม่มี ปัญหาในข้อกำหนดนี้เลย
แต่คนอื่นที่อยู่ห่างไกลจะเรียกร้องสิทธิที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว ไม่ว่าเขาจะอยู่ห่าง
ไกลโรงเรียนเพียงใดก็ตาม ในทางตรงข้าม ถ้าโรงเรียนใกล้ บ้านมีชื่อเสียงน้อยก็อ้างเหตุผล
ต่าง ๆ นานา ที่จะขอไปเข้าโรงเรียนอื่นแทน ถามว่าทำไม ถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือต้องการ
ให้ลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ มีชื่อเสียง เพราะเชื่อว่าถ้าลูก ได้เรียนโรงเรียนดังกล่าว ลูกก็จะได้เป็น
คนเก่ง คนดีเหมือนคนอื่นที่เขาเก่งเขาดี และเคยจบมาจากโรงเรียนนี้
             โรงเรียนมีชื่อเสียงคือโรงเรียนดี
นี่คือ ทัศนคติของคนโดยทั่วไปคงไม่ปฏิเสธ
ว่าไม่เป็นความจริง   เพราะว่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอย่างเตรียมอุดมฯ สวนกุหลาบ วิทยาลัย
สตรีวิทยา ฯลฯ ล้วนเป็นโรงเรียนดี   มีลูกศิษย์ลูกหาได้ดิบได้ดีเต็มบ้านเต็มเมือง ศิษย์ที่ไม่
ประสบความสำเร็จก็พอมีบ้าง แต่คนไม่รู้จัก ไม่สนใจ อาจเป็นด้วยมีจำนวนน้อยกว่าผู้ประสบ
ความสำเร็จแล้วโรงเรียนอื่นๆ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ ก็คงตอบได้เช่นกัน

ว่า
มีคนดี คนมีชื่อเสียง คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจำนวนมากจบมาจาก
โรงเรียนมัธยมที่ไม่มีใครรู้จัก โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนบ้านนอก โรงเรียน
ในท้องถิ่นทุรกันดาร
คนเด่นคนดีในประเทศไทยที่เข้าลักษณะอย่างนี้มีไม่น้อยเลย
                
สรุปได้ว่า ความเด่นความมีชื่อเสียงของโรงเรียนอาจเป็นตัวบ่งบอกความมีคุณภาพ
ของโรงเรียน   แต่โรงเรียนที่ไม่เด่นไม่ดังก็ไม่ใช่ว่าไม่มีคุณภาพ   และอาจมีคุณภาพไม่แพ้
โรงเรียนเด่นโรงเรียนดังก็เป็นไปได้  
                 ความดี   ความมีคุณภาพของโรงเรียนนั้น ในสายตาของประชาชนทั่วไปก็แน่นอน
ต้องดูที่ชื่อเสียงโรงเรียน แต่โรงเรียนดี ๆ มีคุณภาพจำนวนมากไม่มีชื่อเสียง   สะดุดหูสะดุดตา
เหมือนโรงเรียนดังอื่น ๆ คนเลยไม่รู้จัก ไม่เข้าใจว่าเป็นโรงเรียนที่เขาควรส่งลูกหลานเข้าเรียน
แล้วก็เลยพยายามแย่งกันเข้าเรียนในโรงเรียนดัง ๆ ให้ได้ ถ้าไม่ได้มีบ้านอยู่ใกล้ก็ขวนขวาย
ไปสอบ วิ่งเต้นทุกวิถีทางทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง บางคนก็ต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลเพื่อ
ให้ได้เข้าโรงเรียนดัง สำเร็จก็มี  ล้มเหลวก็มี   จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสาร   น่าเห็นใจ  คิดว่าถ้า
ประชาชนเข้าใจว่าโรงเรียนมีคุณภาพเป็นอย่างไร   ก็จะผ่อนคลายการแย่งกันเข้าโรงเรียน
ดัง ๆ ได้
                 การหาที่เรียนให้ลูกหลานไม่จำเป็นต้องยึดติดไขว่คว้าหาโรงเรียนดังเหมือนคนอื่น
เขาควรหาโรงเรียนดี   จึงจะเข้าทีกว่าโรงเรียนดีเป็นอย่างไร ตรงนี้ขึ้นกับว่าท่านอยากให้
ลูกหลานเป็นอย่างไรแล้วหาโรงเรียนที่คิดว่าจะสร้างลูกหลานเช่นนั้นได้    ที่จริงกระทรวง
ศึกษาธิการก็คิดเช่นเดียวกันนี้ คิดแล้วก็พยายามทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนดี แต่คง
ทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนดังไม่ได้
                คิดว่าผู้ปกครองก็คิดเหมือนกระทรวงศึกษาธิการ คืออยากเห็นลูกหลานเป็นคนดี
ดีทั้งปัจจุบันและดีต่อไปในอนาคต โรงเรียนดี คือ โรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการที่จะสั่งสอน
อบรมให้เด็กเป็นคนดี จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นคนดี   การทำให้คนเป็นคนดี
ไม่ใช่การบอกว่าทุกคนต้องเป็นคนดี ท่องจำได้ว่าความดีคืออะไร แต่อยู่ที่การให้ได้ปฏิบัติ
เป็นกิจนิสัย เกิดความเชื่อ ความศรัทธายึดมั่นในการเป็นคนดี
มีกิจกรรม หลายอย่างที่
ฝึกและสร้างความเป็นคนดีโดยเด็กไม่รู้ตัว
เช่น การให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มจะช่วย
ให้ได้รู้จักร่วมมือช่วยเหลือผู้อื่น   รู้จักรับฟังความเห็นผู้อื่น รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ   รู้จัก
เสียสละ อดทน เป็นต้น โรงเรียนดีจึงควรจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการทำ
กิจกรรมร่วมกันมาก ๆ
                จุดประสงค์ของการศึกษาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสอนให้นักเรียนรู้จัก
คิดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ให้จำเนื้อหาสาระความรู้ การสอนแบบให้จำจะไม่เป็นประโยชน์กับ
ผู้เรียนมากนัก เพราะความรู้ที่จำได้นั้น ไม่ช้าก็ล้าสมัยเอาไปใช้ไม่ได้ ความรู้ต่าง ๆ เปลี่ยน
แปลงและเกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาความรู้จึงมีความสำคัญ
กว่าการจำความรู้ โรงเรียนที่ดีต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้วิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมาก ๆ
การทำเช่นนี้ได้โรงเรียนต้องมีแหล่งความรู้ที่ดี และอำนวยความสะดวกต่อเด็กในการแสวงหา
โรงเรียนที่ดีจึงควรมีห้องสมุดที่ดี มีหนังสือมาก ๆ และมีหนังสือหลากหลายประเภท เป็นหนังสือ
ที่ส่งเสริมให้เด็กได้คิดในเชิงสร้างสรร นอกจากมีหนังสือแล้วควรมี สื่อเพื่อค้นคว้าอื่น ๆ เช่น
เทปเสียง วิดีทัศน์ ภาพ หุ่นจำลอง ของจริงต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้พัฒนาได้ในรูปแบบต่าง ๆ
เช่น เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม ท้องถิ่น นิทรรศการ ท้องฟ้าจำลอง
สวนพฤกษศาสตร์ เป็นต้น

               
นอกจากแหล่งแสวงหาความรู้    โรงเรียนที่ดีควรจัดการเรียนการสอนแบบที่
นักวิชาการเรียกว่า
ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
คือ ให้ความสำคัญกับนักเรียน สอนโดยให้
นักเรียนแสวงหาและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง โดยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ เช่น
การเรียนรู้เรื่องพืชจากการไปดูพืช สังเกตพืช การเจริญเติบโตของพืชจากของจริง มีการจด
บันทึก มีการทดลองปลูกพืชในลักษณะต่าง ๆ หรือการเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาด้วยการให้นักเรียน
ศึกษาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนของชุมชน ช่วยกันวางแผนพัฒนา สิ่งแวดล้อมว่าควรทำอย่างไร
แล้วให้ลงมือปฏิบัติพัฒนาสิ่งแวดล้อมจริง ๆ
การเรียนรู้ ด้วยการปฏิบัติจริง
จะช่วยให้เด็ก
เกิดความงอกงามทางปัญญา ความคิด คือ รู้จักคิด รู้จักหาเหตุผล และรู้จักวิธีหาคำตอบที่
เชื่อถือได้

               
โรงเรียนที่ดีควรใช้หลักประชาธิปไตยในการปกครองและในการจัดการเรียนการสอน
นั่นคือโรงเรียนต้องรับฟังและร่วมมือกับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ โรงเรียน ต้องถือว่า
โรงเรียนเป็น
ของชุมชน
เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในชุมชน การปกครองดูแลเด็กก็ควรใช้หลัก ประชาธิปไตย คือ
รับฟังความคิดเห็นนักเรียนให้นักเรียนร่วมดูแลโรงเรียน ร่วมคิดทำ หลักสูตรและวิธีการเรียน
การสอน เพราะจะทำให้กระบวนการเรียนการสอนมีชีวิตชีวา และสอดคล้องกับความสนใจของ
ผู้เรียนและชุมชนมากที่สุด การใช้หลักประชาธิปไตย ยังเป็นการช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วม
กับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักอภัย รู้จัก เสียสละไม่ยึดประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง อันจะช่วยหล่อหลอม
ให้เขาเป็นประชากรที่ดีของ สังคมในอนาคต
                 ที่จริงทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนดี หรือมีศักยภาพที่จะเป็นโรงเรียนดีได้ทั้งสิ้น โรงเรียน
ของรัฐทุกแห่งมีมาตรฐานการบริหารจัดการ   และปรัชญาการจัดการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน   สิ่งที่
แตกต่างกันมักอยู่ที่ชื่อเสียงเดิม และแรงสนับสนุนจากประชาชน หน้าที่การให้การศึกษาเด็ก
ไม่ใช่เป็นของโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว ผู้ปกครอง บิดา มารดา มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากต่อ
กระบวนการศึกษา การเรียนรู้ของเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน ต้องถือเป็นหน้าที่เข้าไปช่วยกำกับดูแล
โรงเรียน ช่วยเหลือโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านแรงกาย แรงใจ และแรงปัญญาตามความถนัด
ของแต่ละ คน เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดี ทำหน้าที่ได้สมเจตนารมณ์ของการจัด
การศึกษา เท่านี้ทุกโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนที่ดีโดยทั่วกัน ผู้ปกครองก็จะได้ส่งบุตรหลานเข้า
โรงเรียนใกล้บ้านโดยไม่ต้องใฝ่หาโรงเรียนดังให้เหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด 12 กรกฎาคม
2541

อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : ท่านพนม พงษ์ไพบูลย์
รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนา และนำเสนอ : กลุ่มงานจัดการฐานข้อมูล   กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ
ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218   
ติดต่อผู้ดูแลระบบ :
website@emisc.moe.go.th

คิดดูให้ดีก่อนจะแยกงานวัฒนธรรมไปจากการศึกษา

ประเทศไทยเคยมีกระทรวงวัฒนธรรมควบคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ที่รู้จักกันดีก็คือสมัยที่   จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี         และมีท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  ต่อมาภายหลังก็ถูกยุบรวมมาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ  และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน
                งานวัฒนธรรมนั้นจริง ๆ แล้ว หมายรวมถึงงานหลักที่สำคัญสามด้านด้วยกัน คือ ด้านศาสนา ด้านศิลป และด้านวัฒนธรรม  งานสามด้านนี้มีหน่วยงานระดับกรมดูแลรับผิดชอบสามหน่วยงานด้วยกัน  คือกรมการศาสนา   กรมศิลปากร  และสำนักงาน
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  ชื่อของทั้งสามหน่วยงานก็บ่งบอกความรับผิดชอบไว้ชัดเจนอยู่แล้ว
                ด้านศาสนานั้น ส่วนใหญ่เป็นงานส่งเสริมทำนุบำรุงด้านพระพุทธศาสนาและสนองงานของกิจการคณะสงฆ์ อันได้แก่การเป็นสำนักงานเลขาธิการของมหาเถร-สมาคม  การดูแลศาสนสมบัติ เป็นต้น  งานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นที่เป็นหลักคือการรับรองศาสนาต่าง ๆ ที่คนไทยนับถือ และงานทำนุบำรุงศาสนาอื่นโดยทั่วไป  กรมการศาสนารับนโยบายหลักโดยเฉพาะด้านพุทธศาสนาจากมหาเถรสมาคมโดยตรงมากกว่าจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
                ด้านศิลป คืองานรักษา สืบสาน สืบทอด ศิลปของไทยทุก ๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรม นาฏกรรม ดุริยางคศิลป์ มัณฑนศิลป์ โบราณสถาน  โบราณวัตถุต่าง ๆ และยังมีงานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวรรณคดีของไทย  กรมศิลปากรทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยกำหนดนโยบายและแผนด้านศิลป และยังเป็นหน่วยปฏิบัติการด้วย
                ส่วนด้านวัฒนธรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นการกำหนดแผนทางวัฒนธรรมส่งเสริม
สนับสนุนให้บุคคล หน่วยงานและองค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด
และพัฒนาวัฒนธรรมของไทย ที่ปฏิบัติเองก็มีบ้าง ส่วนใหญ่เน้นเพื่อเป็นตัวอย่าง และให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตความเป็นไทย


                ทั้งศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจนยากที่จะแยกออกจากกันได้ ที่จริงทั้งหมดก็คือวัฒนธรรมในความหมายที่กว้างนั่นเอง โบราณ-สถาน  โบราณวัตถุ หรือแม้แต่งานประณีตศิลปที่ล้ำค่าของไทยจำนวนมากอยู่ในวัด ในพิพิธภัณฑ์ โบราณวัตถุสำคัญส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และวัฒนธรรม ในวิถีชีวิตส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับวัดและศาสนสถานต่าง ๆ  ศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม จึงเกือบเรียกได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน  ที่แยกกันปฏิบัติก็เพื่อให้กว้างขวาง ครอบคลุม และลึกซึ้งเพียงพอ  แม้จะมีหน่วยงานระดับกรมถึงสามหน่วยงาน การปฏิบัติก็มักจะซ้ำซ้อนเกี่ยวข้องกันตลอดเวลาเป็นปกติธรรมชาติ
                ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นความเด่น ความเป็นเอกลักษณ์ของงานด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเกี่ยวข้องกับงานการศึกษาอย่างไร จึงมารวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ
                การศึกษา คือกระบวนการพัฒนาคน เป็นกระบวนการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง เป้าหมายปลายทางก็คือให้มีความรู้ดี  มีความประพฤติดี สามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น  มักกล่าวกันสั้น ๆ ว่า “เพื่อให้คนมีความรู้คู่คุณ-ธรรม” คุณธรรมก็คือความดีงามนั่นเอง ความดีงามก็คือวัฒนธรรมตามวิถีชีวิตที่สืบทอด
กันมาจากบรรพบุรุษและสัมพันธ์หรือเป็นอันเดียวกันกับหลักศาสนาที่คนไทยยึดถือ จึงกล่าวได้ว่า “การศึกษาก็คือกระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรมนั่นเอง”  วัฒนธรรมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
                งานสำคัญของการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม คือการสืบสาน สืบทอด ให้คนรุ่นหลังได้มีศรัทธา เลื่อมใส ยึดถือและปฏิบัติ จนเป็นความเคยชิน เป็นวิถีชิวิตของเขา  เพราะศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมของไทยคือสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ ความเป็นไทย  ความเป็นไทยไม่ได้ปรากฏชัดเจนที่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น  แต่ยังปรากฏในภาษาพูด เขียน
กริยามารยาท วิธีปฏิบัติตนต่าง ๆ ศิลป ดนตรี การร้องรำทำเพลง ฯลฯ  ถ้าเราพบเห็นคนปฏิบัติตน เราสามารถบอกได้ทันทีว่าเขาเป็นไทยหรือไม่  การสืบสาน สืบทอด ศิลป วัฒนธรรม ก็คือการรักษาความเป็นชาติไทย และการสืบสาน สืบทอดที่ดีที่สุดก็คือ การกระทำผ่านกระบวนการศึกษา
                การที่บรรพบุรุษไทย รวมงานศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมไว้ในกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทย  เพื่อให้การศึกษาเป็นกระบวนการสืบทอดทางวัฒนธรรม  และทำให้การสืบสานวัฒนธรรมสามารถทำผ่านกระบวนการศึกษาได้อย่างสะดวกคล่องตัว  เมื่อคราวที่มีการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ทุกคนก็ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ และเพื่อให้งานวัฒนธรรมมีความเด่นชัดมากขึ้น  จึงมีความคิดตั้งหน่วยงานระดับทบวงเรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมขึ้น  บังเอิญงานตามพระราชบัญญัติส่วนใหญ่เป็นงานการศึกษา  หลักการสำคัญที่คิดจึงเน้นเพื่อการศึกษา เช่น หลักการกระจายอำนาจ  การให้หน่วยงานกลางเป็นหน่วยนโยบายและแผน  หน่วยงานย่อยในพื้นที่เป็นหน่วยปฏิบัติ เป็นต้น  ไม่มีใครได้เฉลียวใจว่างานศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม แม้จะสัมพันธ์กัน แต่ก็แตกต่างกันในวิธีปฏิบัติ
                การรักษามรดกทางศิลป วัฒนธรรมของชาตินั้น  หลาย ๆ เรื่องส่วนกลางต้องปฏิบัติ  ไม่สามารถกระจายอำนาจได้  เช่น การดูแลโบราณสถาน  โบราณวัตถุสำคัญของชาติ  งานสนองงานคณะสงฆ์ก็เป็นงานปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่  เมื่อมีพระราชบัญญัติออกมา จึงเกิดปัญหาว่าจะปฏิบัติได้อย่างไร  ยิ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการโดยกำหนดให้มีผู้แทนกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นผู้แทน ขณะที่งานร้อยละเก้าสิบห้า เป็นงานพุทธศาสนา  จึงทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องศาสนาขึ้น นำมาสู่การขอแยกและตั้งสำนักงานพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่
                ที่จริงปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ไม่ยากนัก หากยอมรับว่างานทางด้านศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม  ต้องทำทั้งในรูปแบบของการส่งเสริม สนับสนุน ในรูปของการกำหนดนโยบายและแผน  แล้วยังต้องปฏิบัติด้วยเพราะเป็นงานสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ก็กำหนดให้เขาปฏิบัติได้เสีย  โดยไม่เอาหลักการที่ใช้กับด้านการศึกษามาบังคับใช้กับศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมด้วย   เรื่องก็คงจะยุติด้วยดี  เมื่อหลักการไม่เปลี่ยนแปลง จึงเกิดความคิดแยกงานด้านศาสนา ศิลป วัฒนธรรม เป็นกระทรวงใหม่ และความคิดนี้ก็ไปไกลจนจะรั้งไม่อยู่แล้ว มีการเสนอตัดงานศาสนา ศิลป วัฒนธรรม ออกจากกระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  จนถึงขั้นออกพระราชบัญญัติ และกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร  ถ้าทุกอย่างสำเร็จ ต่อไปกระทรวงการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม จะเหลืองานการศึกษาเพียงอย่างเดียว
                ถ้าเป็นเช่นนี้ อนาคตที่มองเห็นก็คือ งานสืบสาน เผยแพร่ ศิลป วัฒนธรรมที่เคยทำผ่านกระบวนการศึกษาก็จะไม่คล่องตัวเหมือนก่อน  และถ้าไม่ทำผ่านกระบวนการศึกษาหรือรูปแบบการศึกษาในสถานศึกษาแล้ว จะทำได้กว้างขวางได้อย่างไร  ในเวลาเดียวกันความคิดเรื่องการศึกษาที่เป็นกระบวนการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมก็จะถูกลดความสำคัญลง  ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ วิถีชีวิต ความเป็นไทยจะจางลง บทบาทวัฒน-ธรรมต่างแดนจะเด่นขึ้น  หลายคนที่ชอบความเป็นสากลอาจบอกว่าดีแล้ว  ไทยจะเป็นสากลมากขึ้น  ความเป็นสากลนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องรักษาความเป็นไทยไว้ให้ได้ด้วย
                วิธีแก้ปัญหาที่ดีในเรื่องนี้ทำได้ง่ายมาก  แต่ไม่เคยมีใครคิดถึง เพื่อให้งานการศึกษาและงานศาสนา ศิลปและวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมเกื้อกูลกันเหมือนเช่นเคย  และเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ  ก็เลิกการกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมเสีย  แล้วให้คงหน่วยงานเดิมไว้  คือมีกรมการศาสนา  กรมศิลปากร และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  เท่านี้ ข้อขัดข้องต่าง ๆ ก็จะหมดไป  ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น
                จึงอยากจะขอให้พิจารณาทบทวนดู  ให้ดีกันอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นอย่างอื่น
อ้างอิงโดย แหล่งข้อมูล : นายพนม  พงษ์ไพบูลย์รวบรวม จัดเตรียมข้อมูล พัฒนาและนำเสนอ : นิภา  แย้มวจี ( 22 พ.ค. 2545 )หน่วยงาน :  กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ   ศูนย์สารสนเทศ สป. ศธ.
โทร. 281-9809 , 628-5643 , 628-5644  โทรสาร  281-8218  
ติดต่อผู้ดูแลระบบ : website@emisc.moe.go.th

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

หลักสูตรแกนกลาง 51

สรุปหลักสูตรแกนกลาง 51 
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช ๒๕๕0  และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕
           อาศัยอำนาจตามความมาตรา  ๑๒  และมาตรา  ๑๕  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ. ๒๕๔๖ และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช ๒๕๕๑
           โรงเรียนต้นแบบ
1.ปีการศึกษา  2552  ให้ใช้หลักสูตร  ในชั้น  ป.1-6  และ ม.1 และ 4
2. .ปีการศึกษา  2553  ให้ใช้หลักสูตร  ในชั้น ป.1-6  และ ม.1,ม.2  และ 4,ม.5
3. .ปีการศึกษา  2554 เป็นต้นไปใช้ครบทุกชั้นเรียน
        โรงเรียนทั่วไป
1.ปีการศึกษา  2553 ให้ใช้หลักสูตร  ในชั้น  ป.1-6  และ ม.1 และ 4
2. .ปีการศึกษา  2554  ให้ใช้หลักสูตร  ในชั้น  ป.1-6  และ ม.1,ม.2  และ 4,ม.5
3. .ปีการศึกษา  2555   เป็นต้นไปใช้ครบทุกชั้นเรียน
หลักการมี  6 ข้อ    จุดหมายมี 5 ข้อ  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน  มี  5  ประการดังนี้
1.ความสามารถในการสื่อสาร    2. ความสมารถในการคิด  3.ความสามารถในการแก้ปัญหา
4.ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต  5.ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
คุณลักษณะอันพึงประสงค์   มุ่งพัฒนาผู้เรียน  เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข  ในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก มี 8 ข้อ
มาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่า  1.ต้องการอะไร 2.ต้องสอนอะไร  3.จะสอนอย่างไร 4.ประเมินอย่างไร  รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายใน  และการประเมินคุณภาพภายนอก   รวมถึงการทดสอบระดับเขตพื้นที่  และการทดสอบระดับชาติ
ตัวชี้วัด  1.ตัวชี้วัดชั้นปี   เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ(ป.1-ม.3)    2. 1.ตัวชี้วัดช่วงชั้น  เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.4-ม.6)  
โครงสร้างเวลาเรียน    รวมเวลาเรียนทั้งหมด
1.   ระดับประถมศึกษา   ไม่เกิน  1,000  ชม./ปี  จัดเวลาเรียนเป็นรายปี  โดยมีเวลาเรียนวันละไม่เกิน 5  ชม.
  2.ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  ไม่เกิน 1,200  ชม./ปีจัดเวลาเรียนเป็นรายภาค  โดยมีเวลาเรียนวันละไม่เกิน 6  ชม.
  3.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  รวม 3 ไม่น้อยกว่า 3,600   ชม.จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค  โดยมีเวลาเรียนวันละไม่น้อยกว่า  6  ชม. ใช้เกณฑ์  40  ชม./ภาคเรียน  มีค่าน้ำหนักวิชา  1  หน่วยกิจ
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
1. ประถมศึกษาปีที่  1- มัธยมศึกษาปีที่ 3  ปีละ  120  ชม.
2 และมัธยมศึกษาปีที่ 4-6   จำนวน  360  ชม.  นั้นเป็นเวลาสำหรับปฏิบัติกิจกรรมแนะแนว  กิจกรรมนักเรียน  และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณะประโยชน์ในส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์   ให้สถานศึกษาจัดสรรเวลาให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมดังนี้
  - ระดับประถมศึกษา  (ป.1-6)  รวม  6  ปี  จำนวน  60  ชั่วโมง
  - ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  (ม.1-3)  รวม  3  ปี  จำนวน  45  ชั่วโมง
  - ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6)  รวม  3 ปี  จำนวน 60  ชั่วโมง
การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้  แบ่งออกเป็น  4   ระดับ  ได้แก่
1.ประเมินระดับชั้นเรียน   อยู่ในกระบวนการเรียนรู้   ดำเนินการเป็นปกติ  เช่น  ซักถาม  การบ้าน  ชิ้นงาน  แฟ้ม 
2.ประเมินระดับสถานศึกษา   ตรวจสอบผลการเรียนเป็นรายปี/ภาค   ประเมิน เช่น  อ่าน  คิด วิเคราะห์  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  ว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ตามเป้าหมายหรือไม่  เปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับชาติ  และระดับเขต
3.การประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา   ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
4.การประเมินระดับชาติ   ให้ ป.3 ,ป.6 ,ม.3,ม.6  เข้ารับการประเมิน ผลการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆเพื่อวางแผนยกระดับการศึกษา